เรื่องใกล้ตัวที่เรามักละเลย หรือไม่รู้ว่าเรารู้จริงไหม อันดับต้นๆ ก็คือเรื่องสุขภาพ เป็นเรื่องที่สำคัญแต่มักถูกละเลย…. จนกว่าจะป่วย เราได้รับความรู้เรื่องสุขภาพมาตั้งแต่ชั้นไหนยังจำกันได้อยู่ไหม อยู่ในวิชาอะไร
เท่าที่จำได้เราเรียนเรื่องโภชนาการและสุขอนามัย สมัยเด็กเราแทบจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับการนำความรู้เรื่องอาหารห้าหมู่ สุขภาพอนามัยที่เรียนมาใช้ประโยชน์เท่าไหร่ เพราะยังไม่เห็นว่ามันสำคัญยังไง เพราะเน้นไปที่ความอร่อยและความชอบเท่านั้น แล้วพอเราโตขึ้น มีใครได้พัฒนาความรู้ด้านสุขภาพของตัวเองจากที่ไหนบ้างไหม ตอบกันได้ในใจได้อยู่แล้ว……
ทุกวันเราใช้เวลากับข่าวสารรอบตัวที่ป้อนให้เรามากมายเกินที่ต้องการ คำถามที่ได้ยินบ่อย คือ แล้วเราควรจะเชื่อใคร ควรปฎิบัติตัวยังไง มีใครช่วยสรุปให้ไหม บางทีเราก็ตกอยู่ในบทบาทของผู้ให้ข้อมูล เวลามีคนมาถามเรื่องสุขภาพ แล้วเรามีคำตอบให้ไหม มั่นใจกับสิ่งที่แนะนำไปแค่ไหน เหล่านี้ ทำให้เราจำเป็นต้องมี “Health Literacy”
Health Literacy คือ ความรอบรู้เรื่องสุขภาพ เป็นความสามารถหรือทักษะของบุคคลที่จะเข้าใจ ข้อมูลสุขภาพ โต้ตอบซักถาม แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ รวมทั้งเลือกรับบริการสุขภาพในชีวิตประจำวัน เช่น
- การเลือกที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อความรู้สุขภาพที่ได้รับมา
- ความสามารถในการตัดสินใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ เกี่ยวกับสุขภาพอย่างเหมาะสม
- ความสามารถที่จะแนะนำและบอกต่อข้อมูลสุขภาพให้คนอื่นได้